Facebook
Twitter
LINE

เยอรมนี คือประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเราต่างทราบกันดีว่า สงครามนั้นได้สร้างความบอบช้ำให้เศรษฐกิจอย่างหนัก

แต่อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม ก็มีส่วนให้หลายธุรกิจใหม่ๆ สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทแนวหน้าของประเทศได้ภายหลัง

และหนึ่งในนั้นก็คือธุรกิจ Aldi ร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี ซึ่งเราจะพาคุณไปย้อนเรื่องราวของธุรกิจดังกล่าวในบทความนี้ครับ..

 

 

การเริ่มต้นธุรกิจ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเยอรมนี…

Karl Albrecht และ Theo Albrecht สองพี่น้องรับช่วงต่อร้านขายของชำจากคุณแม่ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง

ทั้งสองลงความเห็นตรงกันว่า จะเปลี่ยนโมเดลจากร้านขายของชำธรรมดา ให้เป็นร้านสะดวกซื้อราคาถูก ซึ่งเหมาะกับเศรษฐกิจของเยอรมนีในขณะนั้น

และปรากฏว่าไอเดียดังกล่าวดูเหมือนจะได้ผล ไม่นานนักพวกเขาก็สามารถขยายร้านไปได้เป็น 4 สาขา ภายในเมืองที่พวกเขาอยู่

โมเดลธุรกิจของร้าน Albrecht (Aldi) ในตอนนั้นคือการทำทุกวิธี เพื่อให้ราคาของในร้านพวกเขาถูกที่สุด ฟังดูเรียบง่ายแต่กลับได้ผลอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น

– ขายสินค้าที่ไม่ใช่ของสด หรือเน่าเสียง่ายเป็นหลัก เพื่อให้สต็อกของได้นานขึ้น

– แต่ถ้าสินค้าไหนค้างสต็อกนานเกินไป ก็จะถูกเลหลังขาย เพื่อหาของที่ดีกว่ามาทดแทนทันที

– การเปิดร้านเล็กๆ แต่มีสาขามากขึ้น ประหยัดต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ และยังมีอำนาจต่อรองซัพพลายเออร์มากยิ่งขึ้น

– การไม่ลงทุนงบโฆษณา แต่ใช้วิธีทำให้ของราคาถูกสุด จนเกิดการบอกปากต่อปากแทน

– หรือกระทั่งการที่เจ้าของยอมทนใช้เสื้อผ้าเก่าๆ กินอาหารธรรมดา ใช้ชีวิตติดดิน ให้ลูกค้ารู้สึกว่าเป็นร้านสำหรับคนระดับล่างอย่างแท้จริง

ไม่นานนัก ภายในปี 1960 พวกเขาก็สามารถเพิ่มร้านจากเพียงแค่ไม่ถึงสิบ มาเป็น 300 สาขาทั่วเยอรมนี และมันก็เป็นต้นแบบของร้านสะดวกซื้อราคาถูกอีกหลายแห่งทั่วโลก

แต่ความรุ่งเรืองของธุรกิจ ก็ต้องมาเจอกับความท้าทายครั้งสำคัญ เมื่อทั้ง Karl และ Theo มีความเห็นไม่ลงรอยทางธุรกิจ

 

บรรยากาศร้านในยุคแรกๆ

.

 

จุดแตกหักเพราะ “ยาสูบ”

ใครจะคิดว่าความเห็นไม่ลงรอยเรื่องการขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาสูบ จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาต้องแยกตัวกันเป็นคนละขั้ว และแบ่งธุรกิจออกเป็นคนละครึ่ง

Karl ไม่อยากขายยาสูบ รับผิดชอบ Aldi Süd ดูแลพื้นที่ทางตอนใต้ของเยอรมนีทั้งหมด

Theo ผู้ขายยาสูบ ได้บริษัท Aldi Nord ดูแลพื้นที่ทางตอนเหนือของเยอรมนีทั้งหมด

 

 

แต่แม้จะแบ่งแยกพื้นที่บริหารแล้ว แต่ Aldi ก็ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เพราะอะไร!?

มีรายงานว่าทั้งสองพี่น้อง ก็ยังคงทำงานร่วมกัน วางเป้าขยายกิจการทั้งในและต่างประเทศต่อไป แม้กระทั่งในอีก 6 ปีต่อมา ที่ทั้ง Aldi Nord และ Aldi Süd แยกบริษัทอย่างสมบูรณ์แล้วก็ตาม

ยกตัวอย่างการขยายกิจการ เช่น..

– ปี 1967 Aldi Süd เข้าไปซื้อกิจการร้านขายของชำในออสเตรีย

– ปี 1973 Aldi Nord ร่วมทุนกับบริษัทเบลเยียม ขยายธุรกิจไปที่นั่น

– ปี 1976 ขยายกิจการไปในสหรัฐอเมริกา จนภายหลังมีถึง 2,000 สาขา

– ปี 1990 ขยายกิจการไปในสหราชอาณาจักร

 

ขณะเดียวกัน ในเยอรมนีพวกเขาก็ไม่ได้หยุดแค่ 300 สาขา เท่านั้น แต่ร้านทั้งตอนใต้และตอนเหนือ แข่งกันขยายกิจการ

ขณะเดียวกัน พอเวลาผ่านไป พวกเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากเพียงแค่ร้านขายของชำเล็กๆ ไปเป็นร้านสะดวกซื้อ รวมถึงซูเปอร์มาร์เกตที่มีทุกอย่างขายแบบครบวงจร

จนในปัจจุบัน ทางตอนเหนือมีร้านกว่า 2,200 สาขา ตอนใต้มีร้าน 1,900 สาขา และถ้ารวมสาขาทั่วโลก เท่ากับว่าพวกเขามีร้านมากกว่า 10,000 สาขาแล้ว

 

Karl และ Theo ที่ไม่ค่อยได้เข้าร่วมเฟรมด้วยกันบ่อยนัก

 

คนรวยที่สุดในประเทศ

ในปี 2010 Theo Albrecht ก็เสียชีวิตลงด้วยวัย 88 ปี ซึ่งในตอนนั้นเขาถูกจัดอันดับว่ามีทรัพย์สินมากถึง 520,000 ล้านบาท

ต่อมาในปี 2014 Karl Albrecht ผู้พี่ก็เสียชีวิตลงในวัย 94 ปี กับตำแหน่งชายผู้ร่ำรวยที่สุดในประเทศเยอรมนี ด้วยทรัพย์สิน 780,000 ล้านบาท

 

ทรัพย์สินของทั้งสองคน ถูกส่งต่อให้กับรุ่นลูก ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงเป็นเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศเช่นเดิม

Theo Albrecht Jr. ยังคงเป็นเจ้าของ Aldi Nord และครองตำแหน่งเศรษฐีอันดับ 4 ของประเทศ

ขณะที่ Karl Albrecht Jr. และ Beate Heister ลูกชายและลูกสาวของ Karl ก็ยังรั้งตำแหน่งเศรษฐีอันดับหนึ่งของเยอรมนี กับทรัพย์สินที่สูงถึง 1.28 ล้านล้านบาทอีกด้วย

 

 

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...