Facebook
Twitter
LINE

บริการให้เช่าสกูตเตอร์ กลายเป็นธุรกิจแสนล้านได้อย่างไร??

ตอนนี้บริการเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า กำลังบูมในหลายเมืองของสหรัฐอเมริกา

ได้รับความนิยมขนาดที่ว่า บริษัท Bird หนึ่งในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจดังกล่าว

แม้เพิ่งเปิดบริการในเดือนมีนาคม 2017 เป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง

แต่ได้รับการประเมินมูลค่าบริษัทสูงถึง 70,000 ล้านบาทแล้ว!!

เราจะพาคุณไปรู้จักบริการเช่าสกูตเตอร์ให้มากขึ้น ผ่านบทความนี้ครับ…

 

 

ธุรกิจให้เช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้าคืออะไร??

Bird ก่อตั้งโดยคุณ Travis VanderZanden อดีตผู้บริหารคนหนึ่งของ Uber ที่มองเห็นโอกาสคล้ายๆ กันในรูปแบบใหม่

การให้เช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า ไม่ต่างจากการเช่าจักรยานในหลายเมืองใหญ่

ลูกค้าดาวน์โหลดแอพมาติดตั้งในสมาร์ทโฟน จากนั้นไปยังจุดปล่อยสกูตเตอร์ตามที่ระบุในแอพ ซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งเมือง

พอไปถึงก็เพียงสแกนโค้ด แล้วก็นำไปขี่ออกไปได้ในทันที

โดยส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการที่ 1 ดอลลาร์ต่อการใช้ และคิดเพิ่มนาทีละ 0.15-0.20 ดอลลาร์ตามเวลาที่ลูกค้าใช้

พอใช้เสร็จก็จอดเอาไว้ตรงจุดหมายปลายทางในเมืองนั่นแหละ

ระบบก็จะคำนวณระยะเวลาที่ใช้ และตัดเงินจากบัญชีที่ผูกเอาไว้

ส่วนสกูตเตอร์ที่จอดก็จะกลายเป็นสถานะพร้อมใช้งาน ให้ลูกค้าคนอื่นๆ มาเอาไปขี่ต่อไป

 

Travis VanderZanden ผู้ก่อตั้ง Bird

.

สกูตเตอร์ที่รอคนมาปลดล็อคไปใช้งาน พวกเขาเรียกมันว่า “รังนก”

 

ทำไมจึงได้รับความนิยม??

ทั้งที่สหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบขนส่งมวลชนดีพอสมควร

แต่คนก็ยังแสวงหาทางเลือกที่ดีกว่า และบริการเช่าสกูตเตอร์ก็เข้ามาตอบโจทย์พอดี

 

สมมติว่าห้องพักของคุณ อยู่ห่างจากออฟฟิศในย่านใจกลางเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร

ถ้านั่งรถบัส คุณก็จะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีในการไปทำงาน

ซึ่งเวลาเหล่านี้รวมการเดินจากที่พักไปป้ายรถบัส รอรอบัส นั่งรถ เดินจากป้ายปลายทางไปยังออฟฟิศ

 

ถ้าไม่นั่งรถบัส เลือกเดินไปทำงาน ก็จะใช้เวลาประมาณ 30 นาที

แลกมาด้วยสุขภาพที่แข็งแรงขึ้นนิดหน่อย แต่ก็มีเหงื่อท่วมตัวในวันอากาศร้อน

 

แต่ถ้าคุณเช่าสกูตเตอร์ จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที

ปลดล็อคสกูตเตอร์ใกล้ที่พัก ขับออกไปจอดหน้าออฟฟิศ แล้วก็จอดมันไว้ตรงนั้นแหละ

เสียค่าบริการประมาณ 1 + (0.15 x 15) = 3.25 ดอลลาร์

เมื่อมันทั้งสะดวก แถมราคาไม่แพงจนเกินไป ผู้คนก็เริ่มหันมาใช้มันมากขึ้น

 

เพราะใครๆ ก็ใช้ได้ ทำให้ได้รับความนิยม

 

กลายเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงในที่สุด!!

เพราะนอกจาก Bird แล้ว ยังมีผู้ให้เช่าสกูตเตอร์รายอื่น เช่น Lime, Spin, Scoot, Jump

และอื่นๆ อีกหลายเจ้า ที่ชื่อจำง่ายและให้ความรู้สึกถึงความสะดวก

ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีค่าบริการพอๆ กันอีกด้วย

แถมแทบทั้งหมดยังใช้รถสกูตเตอร์จากบริษัท Ninebot ของอเมริกา และ Xiaomi จากจีนเหมือนๆ กัน

เพียงแต่นำมาติดโลโก้ของบริษัทตัวเองเท่านั้น

 

เมื่อมีผู้ให้บริการเยอะ ทีนี้ผลประโยชน์ก็ตกไปยังลูกค้าเต็มๆ

เพราะเท่ากับว่าผู้ให้บริการต้องแข่งขันกันเอง พัฒนาให้ดีขึ้น มีจุดปล่อยสกูตเตอร์มากขึ้น

รวมถึงด้านราคาที่ไม่มีใครยอมใคร

กลายเป็นตลาดซึ่งห้ำหั่นกันอย่างดุเดือด

แม้จะเป็นตลาดใหม่อายุไม่ถึง 2 ขวบก็ตาม!!

 

ตัวอย่างหน้าจอใช้งานแอพเช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า

 

การทำกำไรของบริษัทให้เช่าสกูตเตอร์

มีการประเมินว่าราคาของสกูตเตอร์ที่ให้บริการนั้น อยู่ที่ประมาณ 250 ดอลลาร์

บริษัทเคยให้ข้อมูลว่า แต่ละตัวจะถูกใช้งาน 10 ครั้งต่อวัน มียอดค่าใช้บริการครั้งละ 3 ดอลลาร์

เท่ากับว่าสกูตเตอร์แต่ละตัว ทำรายได้ 10 x 3 = 30 ดอลลาร์ต่อวัน

 

แต่.. เนื่องจากมันเป็นสกูตเตอร์ไฟฟ้า มันก็ต้องชาร์จไฟใช่ไหม??

งานนี้บริษัท Bird (และบริษัทอื่นๆ) ผุดไอเดียในการไม่ต้องไปตามเก็บสกูตเตอร์มาชาร์จไฟเอง

พวกเขาจ้างงานให้กับคนในเมืองที่อยากจะทำหน้าที่ “ชาร์จสกูตเตอร์” โดยการให้เงินรางวัล 3-20 ดอลลาร์ ตามปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่

หน้าที่ของเหล่านักชาร์จที่อยากจะได้เงินเยอะ ก็จะต้องแข่งขันขับรถออกไปเก็บสกูตเตอร์ในแต่ละวัน เพื่อให้ได้จำนวนมากที่สุด

จากนั้นนำมันกลับมาชาร์จไฟ แล้วเอาสกูตเตอร์พวกนั้นไปรวมกันยังจุดปล่อยสกูตเตอร์หลัก

 

นั่นแสดงว่า บริษัท Bird ก็ไม่ต้องมาคอยกังวลเรื่องสกูตเตอร์แบตหมด หรือโดนทิ้งตามจุดต่างๆ

เพราะเป็นหน้าที่ของเหล่านักล่าเงินรางวัลทั้งหลาย จะไปตามมันมาเอง

นอกจากนี้ บริษัทยังไม่ต้องลงทุนซื้อรถเอง ไม่ต้องจ่ายเงินเดือนประจำ หรือให้สวัสดิการพนักงานอีกด้วย

ซึ่งปกติแล้วจะจ่ายให้กับเหล่านักชาร์จตกเฉลี่ย 5-6 ดอลลาร์ต่อคัน

 

ย้อนกลับไปคิดกับตัวเลขรายได้ 30 ดอลลาร์ด้านบน

หักค่าใช้จ่ายให้นักชาร์จวันละ 6 ดอลลาร์

ก็จะพบว่าบริษัทจะมีกำไรวันละ 24 ดอลลาร์

จุดนี้ยังไม่ได้หักเรื่องของค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อม หรือความเสียหายจากขโมย

ทางด้านบริษัทก็ระบุว่าความเสียหายนั้นมีไม่เกิน 1% ของทั้งหมดเท่านั้น

 

ซึ่งถ้าเราคิดว่าได้กำไรวันละ 20 ดอลลาร์ ก็เท่ากับประมาณ 12.5 วันก็จะคืนทุนค่าสกูตเตอร์

หรือตีให้ค่าบำรุงรักษาแพงๆ เลย แถมโดนขโมยเยอะขึ้นมาหน่อย

หักความเสียหายแล้วได้กำไรเพียงวันละ 12 ดอลลาร์ต่อคัน จะใช้เวลา 20 วันในการคืนทุนค่าสกูตเตอร์

เมื่อมันเป็นโอกาสของธุรกิจแบบนี้ จึงมีหลายบริษัทเข้ามาแข่ง

เหล่านักลงทุนต่างก็คาดหวังว่าอนาคตบริษัทที่ตนเองลงทุนจะมีมูลค่าสูง เป็นเจ้าตลาด และทำกำไรได้มหาศาล

จึงนำเงินมาลงทุนด้วย และมูลค่าของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ก็พุ่งขึ้นมหาศาล

 

ตัวอย่างคนชาร์จ ที่เอารถกระบะมาไล่เก็บสกูตเตอร์

.

ชายคนนี้ไม่มีรถกระบะ ก็จับเสือมือเปล่าด้วยการเช่าสกูตเตอร์ มาไล่เก็บสกูตเตอร์

.

ตัวอย่างรายนี้ หากมี 20 คัน ทำเงินได้คันละ 5 ดอลลาร์ ก็เท่ากับรายได้วันละ 100 ดอลลาร์แล้ว!!

 

แต่ก็มีประเด็นปัญหาตามมา…

คล้ายกันกับ Uber ที่มีปัญหาด้านข้อกฎหมายกับหลายๆ เมือง

บริการให้เช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้า ก็เริ่มจะมีข้อพิพาทกับทางเมือง รวมถึงคนภายในเมืองด้วยเช่นกัน

หลายคนเลือกใช้เพราะความสะดวก ซึ่งเจ้า “ความสะดวกสบาย” ก็กลายเป็นปัญหาขึ้นมา

คนเช่าสกูตเตอร์นำไปขี่ทั้งบนถนน บนเลนจักรยาน หรือกระทั่งบนทางเดินเท้า กระทบกับคนเดินทั่วไป

 

เกิดเป็นคำถามตามมาว่า พื้นที่ใช้งานอันเหมาะสมของสกูตเตอร์ อยู่ตรงไหนกันแน่??

เพราะส่วนใหญ่ใช้เสร็จก็จอดไว้ตรงนั้นเลย เนื่องจากหมดหน้าที่คนใช้แล้ว ถ้ามันหายก็เป็นภาระของผู้ให้บริการ

จึงเห็นภาพของสกูตเตอร์ถูกจอดไว้กลางทางเท้า หรือนอนขวางทางเท้าให้พบเห็นได้บ่อยครั้ง

นั่นทำให้สภาเมืองบางแห่ง ตัดสินใจแบนการใช้งานสกูตเตอร์เช่าเหล่านี้ แต่จำนวนเมืองนั้นยังคงเป็นส่วนน้อย

 

บางคนจอดแย่ จนต้องเหนื่อยเจ้าหน้าที่

.

หรือไม่ก็จอดนอนแบบนี้ซะงั้น -*-!!

.

นักชาร์จคนนี้โดนตำรวจเรียก เพราะขนมาเยอะเกินไป เป็นอันตรายต่อรถคันอื่น

 

เมื่อธุรกิจยังคงก่อให้เกิดรายได้ และดูมีอนาคต เหล่านักลงทุนก็ยังเชื่อมั่นอย่างเต็มที่

ธุรกิจอย่าง Bird มีมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท

ขณะที่คู่แข่งอีกราย Lime ให้บริการแทบจะเหมือนกัน ก็มีมูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาทแล้ว

จึงเป็นเรื่องน่าจับตามองว่าเทรนด์ของสกูตเตอร์ไฟฟ้านี้จะเป็นอย่างไรในอนาคต

มันอาจจะเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาลให้กับนักลงทุน

หรือมันอาจจะก่อปัญหามากขึ้น และถูกต่อต้านมากกว่าเดิม จนไม่สามารถให้บริการต่อได้ในที่สุด

 

คุณเองล่ะครับ มองเห็นโอกาสจากการเติบโตของธุรกิจนี้ในสหรัฐอเมริกาหรือไม่

คุณคิดว่ามีโอกาสจะทำให้มันบูมในกรุงเทพ หรืออีกหลายเมืองในไทยได้รึเปล่า?? เป็นเรื่องน่าคิดเหมือนกันนะ….

 

 

ติดตาม Billionaire Mindset ได้ในหลากหลายช่องทาง

– เริ่มจากช่องทางใหม่ล่าสุด อินสตาแกรม https://www.instagram.com/billionairethai/

– ตามต่อในทวิตเตอร์ https://twitter.com/BillionaireThai

– ถ้าเล่นแต่ไลน์ ก็ส่งบทความให้คุณทุกวันที่ @BillionaireMindset

– ติดตามเพจ Billionaire Mindset – แนวคิดพันล้าน อย่าลืมตั้งค่า See First เพื่อไม่ให้พลาดทุกโพสต์ใหม่นะครับ!!

 

ที่มา:

www.youtube.com/watch?v=_M_d7EIaXV4

https://en.wikipedia.org/wiki/Bird_(company)

www.businessinsider.com/scooter-startup-bird-raises-400-million-in-4-months-rockets-to-2-billion-valuation-2018-6

www.vanityfair.com/news/2018/05/i-have-never-seen-revenue-grow-this-fast-could-a-scooter-start-up-really-be-worth-1-billion

http://fortune.com/2018/06/28/bird-ceo-scooter-startup/

https://electrek.co/2018/10/02/electric-scooters-lime-canada/

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...