Facebook
Twitter
LINE

 

เมื่อไม่กี่วันก่อน ทางเพจแนวคิดพันล้านได้มีโอกาสเขียนถึงวิกฤติเวเนซุเอลา ซึ่งเปลี่ยนจากประเทศร่ำรวยกลายเป็นการล่มสลาย

หากเวเนซุเอลาคือบทเรียนแห่งความผิดพลาด อีกด้านหนึ่งของโลก “ประเทศเอสโตเนีย” ดูจะเป็นบทเรียนแห่งความสำเร็จในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน

 

รู้จักประเทศเอสโตเนียกันรึเปล่าครับ!?

ประเทศที่มีประชากรเพียงแค่ 1.3 ล้านคน

ต้องตกอยู่ใต้ร่มเงาของสหภาพโซเวียตนานถึง 45 ปี

ประเทศที่เพิ่งมีอิสรภาพเมื่อปี 1991

แต่ปัจจุบันกลายเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว

ผู้คนร่ำรวยเป็นอันดับที่ 39 ของโลก

ประชากรมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 53,000 บาท

พวกเขาทำอย่างไรในช่วงเวลา 20 กว่าปีเท่านั้น…!?

 

– ในปี 1991 เอสโตเนียได้รับอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต นั่นคือจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่าง

– Mart Laar ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1992 เขามีอายุเพียง 32 ปีเท่านั้น

– ส่วนรัฐบาลของเขาก็มีอายุเฉลี่ยประมาณ 35 ปี โดยเน้นคนรุ่นใหม่มาวางแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว

– พวกเขาอยากขจัดระบอบสังคมนิยมที่ติดมาตั้งแต่อยู่ใต้อำนาจของโซเวียต และเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจเสรีโดยเร็ว

– การปฏิรูปนี้มีทั้ง จัดตั้งสกุลเงินครูน เปิดเขตเสรีการค้า จัดสรรงบประมาณภาครัฐใหม่ แปรรูปรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเก็บภาษีประชาชนทุกคนในอัตราเท่ากัน

– ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่ทำงานชักช้าอืดอาด กลายมาเป็นหน่วยงานที่ต้องแข่งขันกับเอกชนเพื่อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

– จากนั้นก็วางรากฐานของโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้าน “เทคโนโลยี”

 

นักเรียนประถมเรียนรู้การใช้งานแท็บเลต

 

อินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี คือปัจจัยสำคัญ…

– รัฐบาลรุ่นใหม่ เล็งเห็นว่าอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี จะกลายมาเป็นสิ่งสำคัญของโลกยุคอนาคต จึงลงทุนในระบบโครงสร้างอินเตอร์เน็ตตั้งแต่แรก

– ในปี 1998 รัฐบาลให้โรงเรียนทุกแห่งมีคอมพิวเตอร์และเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ส่งเสริมให้นักเรียนใช้งานเป็นตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา

– นอกจากนี้ในปี 2000 รัฐบาลเดินหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตฟรี เพื่อจะทำให้คนในประเทศเข้าถึงโลกออนไลน์อย่างเท่าเทียมกัน

– ประกาศให้อินเตอร์เน็ต เป็น “สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน” ที่ประชาชนทุกคนควรได้รับ

– ในปีเดียวกันนี้ ยกเลิกระบบถ่ายเอกสารสำคัญ เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบบัตรประชาชนใบเดียวสามารถใช้ติดต่อราชการ และทำสิ่งต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์ได้แทบทั้งหมด

 

ถ้าจะแก้ปัญหาคอรัปชั่นในแวดวงราชการ ก็ตัดเรื่องการติดต่องานออกไปซะ…

– ระบบราชการแบบเดิม สามารถทุจริตได้ง่ายที่สุดตั้งแต่การจ่ายเงินเพื่อเร่งดำเนินการเอกสารต่างๆ

– ครั้นจะยกเลิกไปเลย คนในหน่วยงานรัฐก็ไม่พอใจ รัฐบาลก็เลยหาวิธีกำจัดเรื่องนี้แบบทางอ้อม โดยไม่ฟาดฟันกันตรงๆ

– เพราะเมื่ออินเตอร์เน็ตเข้าถึงได้ง่ายทั้งประเทศ รัฐบาลก็สามารถให้คนติดต่องานราชการผ่านระบบออนไลน์ได้

– เพียงแค่คุณมีคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และบัตรประชาชน 1 ใบ คุณก็สามารถเปิดบริษัทผ่านระบบออนไลน์ได้ ใช้เวลาเพียง 18 นาทีเท่านั้น

– นอกจากนี้ การวางรางฐานที่ดีมาตั้งแต่ยุค 90 ทำให้คนเอสโตเนียสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ทำธุรกรรมการเงิน ซื้อตั๋ว พบแพทย์ จ่ายค่ารถเมล์ หรือกระทั่งเรียนหนังสือผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมดแล้ว

– การประหยัดเวลาในเรื่องหยุมหยิมนี้ ทำให้คนมีเวลานำไปคิดและพัฒนาในเรื่องอื่นๆ ได้เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

 

นักเรียนมัธยมเข้าถึงคอมพิวเตอร์ และทุกคนต้องเรียนเขียนโปรแกรม

 

อินเตอร์เน็ตช่วยพัฒนาการศึกษา

– เมื่อนักเรียนในโรงเรียนสามารถเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้ตั้งแต่ยังเด็ก หลายคนก็เติบโตไปทำงานในสายงานไอที

– คนที่ไม่สะดวกเดินทางไปโรงเรียน ก็สามารถเรียนผ่าน E-Learning ได้ในทุกที่ของประเทศ

– ยอดเข้าถึงการศึกษาของประเทศเกือบ 100% เพราะทัศวิสัยของผู้นำในอดีต ที่มองเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี

– ผลคะแนนสอบ PISA ในปี 2015 เอสโตเนียอยู่อันดับ 3 ของโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เป็นรองเพียงสิงคโปร์กับญี่ปุ่น

– แถมยังคว้าอันดับ 6 ในด้านการอ่าน และอันดับ 9 ของโลกในด้านคณิตศาสตร์อีกด้วย

(คะแนนเฉลี่ย PISA ของประเทศไทย อยู่ที่อันดับ 56 จาก 70 ประเทศทั่วโลก)

– ผลงานด้านเทคโนโลยีที่โด่งดังมากที่สุดชิ้นหนึ่งของเอสโตเนีย ก็คือโปรแกรม Skype ซึ่งเปิดโลกใหม่ของการติดต่อสื่อสารผ่านทางวิดีโอคอลในต้นยุค 2000

– ภายหลังถูก eBay ซื้อต่อไปด้วยราคากว่า 83,000 ล้านบาทในปี 2005

– ข้อมูลในปี 2016 พบว่าประชากรเกือบ 400,000 คน (30% ของประเทศ) ทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยี

 

ถึงแม้ว่าเอสโตเนีย จะเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดในกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต

แต่ในวันนี้…

เอสโตเนีย ก็ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราคอรัปชันน้อยที่สุดในกลุ่มนี้

ดัชนีการพัฒนามนุษย์ ซึ่งวัดด้านสุขภาพ การศึกษา และเศรษฐกิจ จัดให้เอสโตเนียอยู่อันดับ 30 ของโลก

มีเสรีภาพบนโลกออนไลน์มากที่ในโลกอันดับ 1 ของโลก

ประชาชนเข้าถึงสิทธิการศึกษาและการแพทย์ขั้นพื้นฐานได้ฟรี

 

และเอสโตเนีย ก้าวจากประเทศยากจนในปี 1995 ที่คนรายได้เดือนละ 8,000 บาท (เฉลี่ยพอๆ กันกับประเทศไทยในยุคนั้น)

มาเป็นประเทศที่คนรายได้เฉลี่ยเดือนละ 53,000 บาทในปี 2017

กลายมาเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้สำเร็จภายในเวลาประมาณ 20 ปีเท่านั้น

 

เราสามารถเรียนรู้อะไรจากประเทศเอสโตเนีย เพื่อนำมาเป็นบทเรียนให้กับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยบ้าง

เพื่อการหลุดพ้นจากสภาพ “กำลังพัฒนา” เข้าสู่การพัฒนาโดยสมบูรณ์เสียที… คุณคิดว่าอย่างไรครับ!?

 

 

ที่มา:

เพจมุมคิด​

https://fee.org/articles/how-estonia-yes-estonia-became-one-of-the-wealthiest-countries-in-eastern-europe/

https://tradingeconomics.com/estonia/gdp-per-capita

https://www.cato.org/publications/commentary/why-estonia-country-future

https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_past_and_projected_GDP_(nominal)_per_capita

www.quora.com/Is-Estonia-a-developed-country

www.theguardian.com/world/2014/jun/09/-sp-post-soviet-world-need-to-know-estonia

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...