Facebook
Twitter
LINE

การเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่เป็นที่จับตามองของทั้งสื่อมวลชน และเหล่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลก

ซึ่งหลายคนก็จับตามองว่า มือถือรุ่นใหม่จะมีอะไรที่ทำให้รู้สึก “ว๊าว” ได้บ้าง

ซึ่งนั่นหมายถึงยอดขายและรายได้มหาศาลที่กำลังจะตามมา

 

 

หากเปรียบ Apple เป็นทีมกีฬาที่ทำผลงานดี จนติดอันดับบริษัทที่มีค่าสูงที่สุดในโลก

ทำรายได้ในปี 2017 ไปทั้งสิ้น 229,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 7.4 ล้านล้านบาท)

iPhone ก็เปรียบเป็นนักกีฬาระดับซูเปอร์สตาร์ที่สปอตไลท์สาดส่อง

อีกมุมหนึ่ง ก็มีนักกีฬาผู้ขยันฝึกซ้อม และช่วยให้ทีมเก่งขึ้นอยู่แบบเงียบๆ

และสักวันเขาอาจจะกลายมาเป็นซูเปอร์สตาร์ที่เก่งกาจในอนาคต ซึ่งก็คือบริการ Services ต่างๆ นั่นเอง

 

Services คืออะไรบ้าง!?

ก็ได้แก่พวกบริการทั้งหลายในเครื่อง ตัวหลักก็จะเป็น App Store

รองลงมาก็เป็น iTunes Store, Apple Music, iCloud, Apple Pay

รวมไปถึงบริการดิจิตอลอื่นๆ ของเครือ Apple แทบทั้งหมด

 

หากเราเทียบจากรายได้ในปีล่าสุด ซึ่ง Apple ทำไป 229,000 ล้านดอลลาร์

แบ่งเป็นยอดขาย iPhone 141,000 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 62%

ยอดขาย iPad 19,200 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 8%

ยอดขาย Mac 25,800 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11%

ยอดขายอุปกรณ์เสริม พวกหูฟัง นาฬิกา ทีวี คิดเป็น 6%

และ Services มีส่วนแบ่ง 13%

 

และหากมองย้อนกลับไปในส่วน Services เอง ก็ทำรายได้เติบโตขึ้นทุกปีเช่นกัน

จากปี 2013 ทำรายได้ประมาณ 16,000 ล้านดอลลาร์

ปี 2017 ทำรายได้ประมาณ 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 970,000 ล้านบาท

(แค่ยอดขายตรงส่วนนี้ ก็เท่ากับ 1/3 ของงบประมาณที่ใช้บริหารประเทศไทยทั้งปี)

 

ส่วนปี 2018 ผ่านไปสามไตรมาส ทำรายได้ไปแล้วประมาณ 27,000 ล้านดอลลาร์

ดูแล้วมีแนวโน้มจะรายได้สูงกว่าปีก่อน

ซึ่งนั่นทำให้เป้าหมาย 50,000 ล้านดอลลาร์ ที่ทางคุณ Tim Cook ตั้งเป้าไว้ภายในปี 2021 มีโอกาสเป็นจริงขึ้นมาได้

 

ทำไมบริการด้าน Services จึงเติบโตอย่างรวดเร็ว??

ก่อนอื่นต้องยกความดีให้กับยอดขายของ iPhone ซึ่งตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา สามารถขายรวมกันกว่า 1,000 ล้านเครื่องทั่วโลก

มีการประเมินว่า มีเครื่องที่ยังใช้งานได้ 700 ล้านเครื่อง

และทุกเครื่องต้องลงแอพพลิเคชั่นของ Apple เอาไว้

(ซึ่งต่างกับระบบ Android ที่จะลงแอพหลักต่างกันไปตามผู้ผลิต และมีแอพนอกให้เลือกใช้มากกว่า)

 

ใน App Store มีแอพต่างๆ มากถึง 2,000,000 แอพ

เมื่อใช้จ่ายผ่านแอพเหล่านั้น Apple ก็จะได้ค่าธรรมเนียม 30%

การใช้จ่ายผ่านแอพ ส่วนมากจะอยู่ในหมวดเกม ซึ่งมีการเติบโตสูงถึงปีละ 50%

ในขณะที่ผู้ผลิต แข่งกันทำเกมมาลงเพื่อดูดเงินจากผู้เล่น ก็ทำให้ Apple เหมือนเสือนอนกินค่าธรรมเนียมไปด้วย

 

ด้านผู้ใช้งาน Apple Music ก็เพิ่งทำสถิติสูงถึง 50 ล้านคน

มีค่าใช้บริการเดือนละ 9.99 ดอลลาร์ (ในไทยจะเก็บถูกกว่าที่ 129 บาท)

นั่นก็หมายถึงรายได้เป็นกอบเป็นกำอีกส่วนหนึ่ง

 

ยังรวมไปถึงรายได้จากค่าธรรมเนียม Apple Pay, ค่าพื้นที่ iCloud หรือค่าประกัน AppleCare อีกมหาศาล

นี่คือที่มาของเงินรายได้รวม 30,000 ล้านดอลลาร์

หรือคิดเป็นเงินไทย 970,000 ล้านบาท!!

และที่สำคัญอีกอย่างคือ บริการด้านดิจิตัลนี้มีสัดส่วนของกำไรที่มากกว่า เทียบกับการขายโทรศัพท์มือถือ

เพราะมันแทบไม่มีต้นทุนอะไรเลย!!

 

 

เมื่อ iPhone รุ่นใหม่ออกมา ก็จะทำให้รุ่นเก่านั้นตกรุ่นไป บางรุ่นถึงขั้นที่คนเลิกใช้

แต่ด้าน Service นั้นเป็นอะไรที่คนเลิกใช้ไม่ได้

ตัวอย่างเช่น ตราบใดที่พวกเขายังใช้ iPhone ก็ยังต้องดาวน์โหลดแอพผ่าน App Store อยู่ดี

 

รายได้จากตรงนี้ จึงเป็นสิ่งทำให้ Apple อุ่นใจได้ระดับหนึ่งว่า

ถึงยอดขายมือถือจะตกลงไปบ้างในอนาคต แต่ก็ยังมีส่วนของบริการมาชดเชย

หรือในแง่ดีกว่านี้น หากยังรักษาด้านยอดขายมือถือไว้ได้ พร้อมกับบริการดิจิตอลที่เติบโตขึ้นทุกปี

นั่นยิ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้มากขึ้น กำไรสูงขึ้น

และครองความเป็นบริษัทอันดับ 1 ของโลกไปอีกยาวนานนั่นเอง

 

 

ที่มา:

www.statista.com/chart/13710/apple-revenue-by-product-group/

www.cnbc.com/2018/05/01/apple-earnings-software-and-services-revenue.html

www.macrumors.com/2018/07/31/apple-services-revenue-up-thrilled-about-pipeline/

https://www.statista.com/chart/14629/apple-services-revenue/

https://en.wikipedia.org/wiki/Apple_Inc.

http://investor.apple.com/investor-relations/financial-information/default.aspx

www.mensxp.com/technology/latest/35404-do-you-know-how-many-iphones-are-being-used-all-over-the-world-today-apparently-it-s-an-overwhelming-amount.html

Advertisement

แสดงความคิดเห็น...